การประเมินและวัดผลออนไลน์
- การทำความเข้าใจและสร้างข้อตกลงเรื่องเกณฑ์การประเมินผลกับผู้เรียนให้ชัดเจนและเหมาะสม
- การสอบจะต้องมีความรัดกุมและมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับรูปแบบออนไลน์
แนวทางในการประเมินและวัดผลออนไลน์
มีการทำความเข้าใจและสร้างข้อตกลงเรื่องเกณฑ์การประเมินผลกับผู้เรียนให้ชัดเจน
- เครื่องมือที่จะใช้วัด รูปแบบในการสอบ และอุปกรณ์ที่ต้องใช้
- สัดส่วนคะแนนและเกณฑ์ในการประเมิน
- มีกำหนดการสอบ ระบุวันและเวลาสอบ และระยะเวลาที่ใช้ในการสอบ
- ช่องทางในการติดต่อสอบถาม ได้แก่ เว็บไซต์ โฮมเพจ อีเมล เบอร์โทรศัพท์ ไลน์ หรือช่องทางอื่นๆ
การสอบจะต้องมีความรัดกุมและมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับรูปแบบออนไลน์
กำหนดการสอบ
ควรมีการกำหนด วัน เวลา ในการสอบของรายวิชานั้น ๆ พร้อมกันทั้งรายวิชา เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้เข้าสอบ หากไม่สามารถทำได้ เนื่องจากปัญหาทางด้านจำนวนที่มากเกินไป ไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึง อาจจะเปลี่ยนเป็นการแบ่งรอบสอบ แต่ข้อสอบต้องมีหลายชุด
ควรจัดให้มีชุดข้อสอบหลายชุด
- การสลับลำดับคำถาม การเรียงข้อคำถามที่แตกต่างกัน
- ใช้คำถามแนวเดียวกัน คำตอบต่างกัน ระดับความยากง่ายเท่ากัน เช่น การเปลี่ยนตัวเลขในโจทย์วิชาคณิตศาสตร์
- สำหรับข้อสอบที่มีหลายระดับความยาก ข้อสอบทุกชุดควรมีจำนวนข้อต่อ 1 ระดับความยากในสัดส่วนเท่าๆกัน
เช่น ชุด A มีง่าย 10 ข้อ ยาก 30 ข้อ ข้อเขียน 2 ข้อ ชุด B ก็ต้องมีจำนวนข้อง่าย 10 ข้อ ยาก 30 ข้อ ข้อเขียน 2 ข้อเช่นเดียวกัน
กรณีเป็นข้อสอบปรนัย สามารถปรับระดับความรัดกุมให้เหมาะสมขึ้น
- กำหนดเวลาให้พอดีกับคำถาม และความยากของคำถาม เช่น การตอบ1ข้อให้เวลาในการเลือก 2 นาที เพื่อป้องกันการค้นหา
- ปรับลักษณะการถามคำถาม ให้เป็นคำถามที่อ่านโจทย์แล้วต้องใช้เวลาพิจารณาเลือกคำตอบมากขึ้น หรือต้องอ่านตัวเลือกครบทุกตัวเลือกก่อน จึงจะตอบคำถามข้อนั้นได้
เน้นออกข้อสอบแนวคำถามเชิงประยุกต์ มากกว่าคำถามแนวความรู้ความจำ
เน้นข้อสอบแนวอัตนัย หรือสอบปากเปล่า มากกว่าแบบปรนัย
ควรมีการวัดผลหลายๆรูปแบบประกอบกัน
เพื่อให้การวัดผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น มีการจัดสอบปรนัยบนแบบฟอร์มออนไลน์ และมีการสอบปากเปล่าออนไลน์ร่วมด้วย โดยให้สัดส่วนคะแนนสอบปากเปล่า 80% สอบปรนัย 20% เป็นต้น
ข้อจำกัดต่างๆ ของข้อสอบออนไลน์
- ไม่สามารถป้องกันการเปิดหนังสือ การค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตได้หรือจับกลุ่มรวมตัว ในการสอบได้
- ไม่สามารถป้องกันการลอกข้อสอบ หรือให้ผู้อื่นมาสอบแทนได้
- ควรใช้วิธีการสอบแบบ Take Home Exam หรือการสอบสัมภาษณ์ผ่านทางวิดีโอคอล
- หากจำเป็นต้องใช้การสอบแบบออนไลน์ สามารถทำให้การสอบออนไลน์แบบปกติมีการรัดกุมในการสอบมากขึ้น
การออกข้อสอบ Take home
เป็นข้อสอบอัตนัยในรูปแบบหนึ่ง ที่จะมอบหมายโจทย์ให้แก่ผู้สอบ ให้ผู้สอบนำไปทำ แล้วนำส่งภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งในการสอบประเภทนี้ จะมีลักษณะคล้ายการให้การบ้าน ที่ผู้สอบมีอิสระที่จะบริหารจัดการเวลาการทำอย่างอิสระ สามารถที่จะนำข้อสอบไปทำสถานที่ใดก็ได้ สามารถเปิดตำราหรือสื่อต่างๆมาช่วยในการหาคำตอบได้ หรือแม้กระทั่งปรึกษาคนอื่นอย่างไรก็ได้ ตราบใดที่นำข้อสอบกลับมาส่งตามระยะเวลาที่กำหนดทันเวลา โดยการสอบรูปแบบนี้จะมุ่งเน้นให้ผู้สอบหาคำตอบมาด้วยตัวเอง หรือแก้ปัญหาในแบบตัวเองอย่างมีหลักการ เหตุผล สอดคล้องกับหลักการทางวิชาการ
หลักการออกข้อสอบ Take home
- ตั้งโจทย์ถามให้ชัดเจนว่าต้องการให้นักศึกษาตอบรายละเอียดในส่วนใดบ้าง หากต้องการให้แนบไฟล์งานหรือสื่อใดมาประกอบด้วย ควรมีการเขียนระบุให้ชัดเจน
- มีการแจกโจทย์พร้อมกัน เพื่อให้ผู้สอบมีระยะเวลาในการทำเท่าเทียมกัน
- หากโจทย์ที่แต่ละคนได้รับไม่เหมือนกัน ต้องแน่ใจว่าโจทย์ที่แต่ละคนได้รับจะต้องมีระดับความยากเท่ากัน
- ต้องมีการกำหนดระยะเวลาการส่งที่ชัดเจน ว่าส่งช่องทางใด ให้ส่งภายในวันและเวลาใด
- ลักษณะคำถามควรรองรับกับลักษณะการสอบ ที่เปิดโอกาสให้ผู้สอบสามารถเปิดตำรา สื่อต่าง หรือขอคำปรึกษากันเพื่อช่วยหาคำตอบได้อย่างอิสระ
- เกณฑ์การตัดสินว่าผู้สอบนั้นทำด้วยตัวเองหรือไม่ ให้ผู้สอนพิจารณาจากลักษณะการเขียน สำนวนภาษา ความคล้ายคลึงกันของคำตอบอย่างละเอียด
- หากผู้สอนไม่แน่ใจในการวัดผล ควรมีการสอบรูปแบบอื่นร่วมด้วยเพื่อช่วยในการแยกแยะและประเมินผล
การออกข้อสอบปากเปล่า หรือการสอบสัมภาษณ์ออนไลน์
การสอบปากเปล่า หรือการสอบสัมภาษณ์ออนไลน์ เป็นการสอบที่ผู้สอนจะใช้แอพหรือโปรแกรมสร้างห้องขึ้นมา เพื่อทำการวิดีโอคอลพูดคุยถามตอบกับผู้สอบโดยตรง โดยจะมีการตั้งคำถามและให้ผู้สอบตอบคำถามเสมือนการสอบปากเปล่าโดยตรง การสอบในรูปแบบนี้สามารถใช้สอบทั้งแบบเดี่ยวและใช้สอบเป็นกลุ่ม การสอบในลักษณะนี้นอกจากจะทำให้ผู้สอนเห็นการสอบด้วยตัวเองแล้ว ยังสามารถประเมินคุณลักษณะผู้สอบจากภาษากายและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วย
หลักการปากเปล่า หรือการสอบสัมภาษณ์ออนไลน์
- ผู้สอบและผู้สอนต้องมีอุปกรณ์และมีการติดตั้งโปรแกรมหรือแอพฯพร้อมใช้งานก่อนทำการสอบ
- มีการนัดหมายและกำหนดตารางสอบที่ชัดเจนว่าใครจะสอบเมื่อไหร่ วันใด เวลาใด และแต่ละคนจะใช้เวลาเท่าใดในการสอบ
- มีการกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่จะใช้ออกข้อสอบ เกณฑ์การให้คะแนน รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆที่ต้องใช้ในการสอบ
- ลักษณะคำถามที่เหมาะสมในการสอบประเภทนี้ สามารถใช้ได้ทั้งคำถามเชิงปรนัย ให้ผู้สอบเลือกตอบ คำถามแสดงความเห็นปลายเปิด อธิบาย วิจารณ์ การยกตัวอย่างสถานการณ์ การนำเสนอ การแสดงขั้นตอนหรือวิธีทำ
- ข้อสอบควรมีหลายข้อ หลายระดับความยากง่าย
- ควรมีการจัดข้อสอบหลายชุดในการสอบปากเปล่าเช่นเดียวกับการสอบแบบปกติทั่วไป เพื่อเพิ่มความรัดกุมของข้อสอบ
- เนื่องจากการสอบมีระยะเวลาที่จำกัด ควรให้สิทธิ์ผู้สอบในเลือกข้ามคำถามที่ตอบไม่ได้
- ผู้ให้คะแนนควรมีมากกว่า 1 คน เพื่อลดปัญหาอคติและความไม่เป็นธรรม
- ทั้งผู้สอบและผู้สอนจะต้องตรงต่อเวลา เพื่อรักษาสิทธิ์ซึ่งกันและกัน
จัดทำและเรียบเรียงข้อมูลโดย : กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ